พระธาตุเรืองรอง (พิพิธภัณฑ์สี่เผ่าไทย)
จังหวัดศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งของอีสานใต้ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอยู่มากมาย วันนี้จะพาเพื่อนๆไป ไหว้พระธาตุเรืองรอง กันครับ ซึ่งเพื่อนๆที่จะไปไหว้พระธาตุเรืองรองยังไงก็อย่าลืมเอากล้องถ่ายรูปไปด้วยนะครับ เพราะที่พระธาตุเรืองรองนี้นอกจากมีพระธาตุพระธาตุประดิษฐานอยู่ที่นี่ด้วยแล้ว ยังมีเรื่องราวและสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอยู่มากมาย เมื่อเพื่อนๆพร้อมแล้ว เราไปไหว้พระธาตุเรืองรองกันเลยครับ
ไหว้พระธาตุเรืองรอง วัดบ้านสร้างเรือง
เพื่อนๆที่จะมาไหว้พระธาตุเรืองรองนี้ มาทราบประวัติและความเป็นมากันก่อนนะครับ พระธาตุเรืองรองตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย เข้าด้วยกัน ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว
ภายในอุโบสถวัด พระธาตุเรืองรอง
ประวัติความเป็นมาของพระธาตุเรืองรอง ในปี พ.ศ.2511 หลวงปู่ธัมมา พิทักษา ผู้ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านสร้างเรือง และขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดอมรทายิการาม (วัดใหม่ยายมอญ) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้กลับมายังเป็นผู้นำในการบุกเบิกป่าช้าเก่าของบ้านสร้างเรือง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษสร้างเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันก็มีการขยายพื้นที่ทั้งการขอรับบริจาคและซื้อที่ดินใกล้เคียงเพิ่มเติมจนมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 6 ไร่เศษ และได้มีการพัฒนาวัดบ้านสร้างเรืองอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ (ได้รับพระราชทานวิสุงคามวาสี) เมื่อปี พ.ศ.2520 ภายหลังจากการก่อสร้างวัดแล้วเสร็จ หลวงปู่ธัมมา พิทักษาก็ได้มีแนวคิดว่าจะสร้างพระธาตุให้เป็นสถานที่ให้ชาวบ้านได้สักการบูชา โดยเห็นว่าชาวพุทธในเขตอีสานใต้ส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน
พิพิธภัณฑ์สี่เผ่าไทย
ปูชนียสถานทางพุทธศาสนาแต่ละแห่งก็อยู่ห่างไกล เช่น พระธาตุพนม (ประมาณ 400 กิโลเมตร) ประปฐมเจดีย์ (ประมาณ 600 กิโลเมตร) พระพุทธบาทสระบุรี (ประมาณ 500 กิโลเมตร) พระธาตุดอยสุเทพ (ประมาณ 1,000 กิโลเมตร) โอกาสที่จะไปสักการบูชาปูชนียสถานก็เป็นไปได้ยาก บางคนเกิดมาชั่วอายุก็ไม่มีโอกาสสักครั้งในชีวิต ดังนั้น หลวงปู่ธัมมา พิทักษา จึงตัดสินใจสร้างพระธาตุเรืองรองขึ้นที่วัดบ้านสร้างเรืองซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของท่านให้ผู้คนในเขตอีสานใต้ได้สักการบูชา
วัวเทียมเกวียนยักษ์ซุ้มทางเข้าอุโบสถ วัดบ้านสร้างเรือง
พระธาตุเรืองรองจึงเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันถือว่ายังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ยังมีสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมอีกหลายๆ ประการ ตัวพระธาตุ มีฐานกว้าง 30 x 30 เมตร สูง 43.60 เมตร มี 6 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สาวก) ให้ชาวบ้านได้สักการบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ส่วนอาคาร 5 ชั้นที่เหลือ จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์สี่เผ่าไทยที่เน้นการจัดแสดงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในเขตอีสานใต้ อันได้แก่ ชาติพันธุ์เขมร ถิ่นไทย กูยหรือส่วย ไทยลาว และ ชาติพันธุ์เญอ (เยอ) โดยจัดแสดงทั้งในรูปแบบของแบบจำลองปูนปั้นขนาดเท่าจริง (1:1) การจัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประเภทต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเคยใช้นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจัดแสดงแบบจำลองปูนปั้นปริศนาธรรม รวมทั้งมีสถานที่สำหรับสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา รวมทั้งภาพเขียนตามฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น สถานที่สำคัญทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีในเขตอีสานใต้ วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนิทานและชาดก เป็นต้น
จัดแสดงแบบจำลองปูนปั้นปริศนาธรรม ในรูปแบบต่างๆ
บริเวณโดยรอบพระธาตุเรืองรองก็มีการตกแต่งพื้นที่โดยการสร้างแบบจำลองปูนปั้นปริศนาธรรม เอาไหว้หลายที่ และแบบจำลองปูนปั้นประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญของชาวอีสาน รวมทั้งมีการจัดสถานที่สำหรับการร่วมทำบุญโดยการบริจาค บูชาวัตถุมงคล และจำหน่ายของที่ระลึก รายได้ทั้งหมดจะนำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาพระธาตุเรืองรองต่อไป พระธาตุเรืองรอง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ชั้น ได้แก่ชั้นที่ 1 เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการนิทานพื้นบ้าน ความเป็นมาต่างๆ และ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ชั้นที่ 2 เป็นสถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย คือ ส่วย เขมร ลาว เยอชั้นที่ 3 เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณ เครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีตชั้นที่ 4 เป็นจุดพักผ่อนชั้นที่ 5 เป็นที่ปฏิบัติธรรม สมาธิชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุ (เส้นผม) ของพระอรหันต์ และยังเป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ได้อีกด้วย